เบื้องหลังความเป็นไทยที่ถูกถ่ายทอดผ่านตลาดน้ำในชอร์ตแอนิเมชั่นมิคกี้ เมาส์ "Our Floating Dreams"
โดย อิทธิพัทธ์ บุญกุมล
สัมภาษณ์สุดเอ็กคลูซีฟกับทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “Our Floating Dreams” และไวรัลติดหู “ชิพกับเดล”
ตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าน้อยคนที่จะไม่รู้จักชอร์ตแอนิเมชั่นมิคกี้ เมาส์ "Our Floating Dreams" ที่สะท้อนถึงวัฒธรรมอันสวยงามของไทย ที่ถูกนำเสนอผ่านตลาดน้ำ ฉากต่าง ๆ ตลอดสองฝั่งคลอง อาหารไทยที่ชาวต่างชาติคุ้นเคยอย่าง“ข้าวผัดสับปะรด” หรือแม้กระทั่งคำพูดเพียงสั้น ๆ “สวัสดี ขอบคุณ ไม่เป็นไร” แต่กลับสร้างความประทับใจให้กลับแฟนชาวไทย จนกลายเป็นกระแสตอบรับที่ดีมากมายทั่วโลกออนไลน์
หลายคนคงอยากรู้แล้วว่ากว่าจะมาเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จขนาดนี้ ผ่านกระบวนการทางความคิดมาอย่างไรบ้าง เรามีสัมภาษณ์พิเศษจากทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแอนิเมชั่นเรื่องนี้มาฝากแฟน ๆ ดิสนีย์ชาวไทยทุกคน
พอล รัดดิช (Paul Rudish) - Executive Producer and Supervising Director of the "Mickey Mouse" shorts
แดร์ริค บาชแมน (Darrick Bachman) - Writer of the "Mickey Mouse" shorts
อะลอนโซ่ รามิเรซ รามอส (Alonso Ramirez Ramos) – Director, Writer and Storyboarder of the "Our Floating Dreams" short
คริส - คริสโตเฟอร์ วิลลิส (Christopher Willis) - Composer of the "Mickey Mouse" shorts
ควินซี่ สุรสมิทธ์ (Quincy Surasmith) – Lyricist of the "Our Floating Dreams" short
ทำไมดิสนีย์ถึงเลือกนำเสนอวัฒนธรรมไทยอย่างตลาดน้ำ ในชอร์ตแอนิเมชั่นตอนล่าสุดของมิคกี้ เมาส์
พอล: เหตุผลที่ต้องเป็นประเทศไทยก็เพราะว่าที่นั่นมีที่ท่องเที่ยวสวยงามมากมาย ตลาดน้ำก็เป็นอีกหนึ่งจุดหมายของนักท่องเที่ยว เสน่ห์ของมันคือสีสันและความมีชีวิตชีวา เราเลยคิดว่ามันน่าจะมีอะไรสนุก ๆ ให้เลือกมานำเสนอได้
ความพิเศษอะไรของตลาดน้ำไทยที่ตัดสินใจใช้เป็นสถานที่หลักเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว “Our Floating Dreams”
แดร์ริค: ตลาดน้ำของไทยเป็นตัวเลือกแรกที่ลอยเข้ามาในหัวเรา มันเต็มไปด้วยชีวิตชีวาและเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร มันสะท้อนการใช้ชีวิตอยู่กับน้ำของคนไทยได้เป็นอย่างดี เราอยากเห็นมิคกี้ และมินนี่ ใช้ชีวิตอยุ่ที่นั่นจริงๆ และแสดงออกถึงความหลงใหลในอาหารไทยที่ทั่วโลกต่างยอมรับ
พอล: เราเริ่มมองตลาดน้ำของไทยเป็นตัวเลือกแรกๆ มันงดงามและมีสีสันที่สนุกสนาน มีหลายแง่มุมที่สามารถนำมาถ่ายทอดเรื่องราว พอคิดเป็นภาพออกมาในหัวแล้ว มันทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่ามันต้องออกมาสนุกแน่นอน ภาพของบ้านหลังเล็กเรียงรายไปตลอดข้างลำคลอง ภายในเรือแต่ละลำก็เสหมือนมีตลาดเล็ก ๆ ของตัวเอง ซึ่งต่างก็มีเสน่ห์แตกต่างกันออกไป เรารู้สึกตื่นเต้นมากตอนที่ช่วยกันตัดสินใจกันว่า มิคกี้ และ มินนี่ จะใช้เรือแบบไหน ส่วนแรงบันดาลใจหลัก ๆ ในเรื่องของโลเคชั่นจะมีความใกล้เคียง ตลาดน้ำอัมพวา และ ตลาดน้ำตลิ่งชัน เพราะสามารถสะท้อนความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญเราอยากให้ มิคกี้ และ มินนี่ เปรียบเสมือนชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนนั้นจริง ๆ
ในแอนิเมชั่นเรื่องนี้มีรายละเอียดมากมายที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย แต่สามารถถ่ายถอดออกมาได้ครบถ้วนและถูกต้อง อยากทราบว่าทีมงานมีวิธีการคิด และผลิตงานนี้อย่างไร
แดร์ริค: นอกจากความชื่นชอบของเราที่มีต่อประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ของประเทศไทยแล้ว เราได้ทำการค้นคว้าเพิ่มเติมจากทั้งเว็บไซต์และหนังสือ เราศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีและภาพยนตร์ไทยค่อนข้างมากจากช่วง 60s, 70s และ 80s โดยทีมงานของเราได้แรงบันดาลใจหลักมาจากโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยในช่วง พ.ศ. 2503 - พ.ศ. 2513
พอล: ใช่ครับ เราค้นคว้าจากหนังสือในห้องสมุด และผลงานวิจัยต่าง ๆ จากอินเตอร์เน็ต แล้วก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากเพื่อนคนไทยของเราเอง
เลข 999 ของท่าจอดเรือที่ มิคกี้ และ มินนี่ เปิดศึกแย่งชิงกัน มีความพิเศษอย่างไร ทำไมถึงต้องเป็นเลขนี้
อะลอนโซ่: เหตุผลที่เราตัดสินใจเลือกเลข 999 เพราะเราคิดว่ามันเป็นเลขที่ดีและถือเป็นเลขนำโชคของคนไทย และ มินนี่ ก็โชคดีมาก ๆ ที่เธอเองสามารถหาที่ว่างสำหรับจอดเรือของเธอได้
ทำไมต้องเป็น “ข้าวผัดสับปะรด” แทนที่จะเป็นเมนูอื่นที่คนรู้จักมากกว่า คุณเคยลองทาน “ข้าวผัดสับปะรด” มาก่อนหรือเปล่า
พอล: ใช่แล้วครับ ผมเคยทามาก่อน! เหตุผลที่เราตัดสินใจเลือกข้าวผัดสับปะรดเพราะว่ามันเป็นอาหารไทยที่พอคนเห็นก็นึกออกทันทีว่านี่คือข้าวผัดสับปะรด และสับปะรดเมื่อวาดออกมาเป็นการ์ตูนแล้วจะมีรูปทรงที่เตะตาและน่าจะเล่าเรื่องได้ดี บวกกับการนำสองวัตถุดิบที่ตรงกันข้ามโดยอย่างหนึ่งมีความหวานฉ่ำ และอีกอย่างที่มีรสชาติจัดจ้าน พอได้มาผสมกันแล้วยิ่งทำให้รสชาติออกมาวิเศษมาก คล้ายกับทั้ง 2 ตัวละครของเรา มิคกี้ และ มินนี่ ที่ต่างคนต่างก็มีบุคลิกที่ค่อนข้างต่างกัน แต่เมื่อความต่างทั้ง 2 ขั้วได้มารวมกันแล้ว มันทำให้เกิดสิ่งที่วิเศษมากขึ้นไปอีก
ในอนาคตถ้ามีโอกาสได้สร้างชอร์ตแอนิเมชั่นของมิคกี้โดยที่เรื่องราวนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก คุณจะเลือกนำเสนอแบบไหน และเพราะอะไร
พอล: มีไอเดียที่เราเคยคุยกันเกี่ยวกับช้างป่าของไทยที่อ่อนโยนและเป็นมิตร โบราณสถานต่าง ๆ ที่สวยงามของไทย การเต้นรำแบบไทย เราคิดว่าถ้ามีโอกาสได้ทำมันคงจะออกมายอดเยี่ยมมาก และทั้งหมดนั้นคือไอเดียที่เราได้คุยกันตั้งแต่ต้น แต่สุดท้ายจากตัวเลือกที่เรามีทั้งหมด เรากลับมาลงเอยที่เรื่องราวของตลาดน้ำ
“ชิพกะเดลนี่สองพี่น้อง
ขายของในคลอง
ในกองเรามีแต่ถั่วดี ๆ
เพิ่งเด็ดสด ๆ มากินให้หมด”
English Translation:
Chip and Dale, these two brothers
selling things in the canals
In our pile we only have great nuts
just freshly picked, come eat them all!
ใครเป็นคนแต่งเนื้อร้องเพลงชิพกับเดล?
ควินซี่: ผมมีโอกาสได้แต่งเนื้อร้องของเพลงนี้ และทำงานร่วมกับคริสเพื่อให้เพลงนี้ออกมาดีที่สุด ก่อนหน้านี้ทางดิสนีย์ประเทศไทยก็ได้เผยแพร่เนื้อร้องภาษาไทยที่ถูกต้องผ่านทางเฟสบุค Oh My Disney และทวิตเตอร์แล้วเช่นกัน ลิงก์ https://www.facebook.com/OhMyDisneyTH/
พูดถึงเพลงและดนตรีประกอบที่ใช้ในชอร์ตแอนิเมชั่นเรื่องนี้
คริส: บอกตามตรงผมคลั่งไคล้เพลงไทยเอามากๆ! ผมค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากทางออนไลน์ ผมอยากใช้เพลงไทยให้หลากหลายแนวดนตรีมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายในเวลาของความยาวคลิป 3 นาที ดังนั้นมันจึงออกมาค่อนข้างหลากหลายทั้งแนวเพลงและจำนวนชิ้นของเครื่องดนตรีที่ใช้
สิ่งที่จุดประกายอีกอย่างคือเทรนด์ของแนวเพลงป๊อบของไทยในยุค 60s และ 70s กีต้าร์และเครื่องเป่าถูกนำมาบรรเลงร่วมกับดนตรีไทยมันมีเสน่ห์มาก หนึ่งในผู้กำกับ “มิคกี้ เมาส์” - เคลย์ มอร์โรว (Clay Morrow) คือนักสะสมแผ่นเสียงและมีคอลเล็กชั่นเพลงป๊อปของไทย เค้าส่งต่อความรู้และสิ่งที่เขามีไปยังทีมงานทุกคน
ควินซี่และตัวผมเองรู้สึกว่า รูปแบบของตลาดน้ำดูเหมือนจะเป็นภาคกลางค่อนไปทางใต้ของไทย แต่ชิพกับเดลดูเหมือนจะมาจากต่างถิ่น เราเลยคิดว่าเพลงมันน่าจะเป็นออกมาเป็นแนว“หมอลำ” ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านจากแถบภาคอีสานมากกว่า และผมก็มีความหลงใหลในแนวเพลงหมอลำเป็นการส่วนตัว เพราะมันเป็นสไตล์ในแบบดั้งเดิม ฟังแล้วกระปรี้กระเปร่าและเข้าถึงได้ง่าย ในฐานะที่ผมเป็นชาวต่างชาติ
ควินซี่: ผมเป็นเจนเนอเรชั่นที่สองของ ไทย – อเมริกัน ซึ่งเกิดและโตในอเมริกา แม่ของผมเป็นชาวอำเภอสามชุก จ.สุพรรณบุรี พ่อของผมเองเป็นคนบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ดังนั้นสายเลือดทางแม่มาจากจังหวัดที่เรียกได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของพ่อเพลงและแม่เพลงลูกทุ่งไทยอย่างแท้จริง ในขณะที่บ้านเกิดของคุณพ่ออยู่ในแถบภาคอีสานซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดแนวเพลงหมอลำ
ผมลองให้คริสได้ฟังเพลงลูกทุ่ง หมอลำ เพลงไทยเดิม คาราบาว ทำให้เขาเข้าใจว่าเพลงไทยมีหลากหลายแนว ด้วยความที่เขามีเซนส์ทางด้านดนตรีแบบมืออาชีพ พอได้ฟังทั้งหมด ก็เข้าใจแล้วว่าจะเรียบเรียงให้มันออกมาได้ดียังไง แล้วหมอลำเป็นสไตล์ที่คริสตัดสินใจเลือกใช้ในเพลงชิพกับเดล ผมพยายามออกแบบการร้องและเนื้อร้องให้ดูสนุกและให้มีความเป็นไทยอีสานมากที่สุด
ฝากถึงแฟนดิสนีย์ชาวไทยที่ชื่นชอบเพลงชิพกับเดลหน่อยครับ
คริส: ผมรู้สึกดีใจมาก ๆ ที่เพลงสั้น ๆ ของเราทำให้คนไทยมีความสุขขนาดนี้! สิ่งที่เราต้องการนำเสนอคืออยากให้การ์ตูนส่งผ่านความรักของพวกเราที่มีต่อวัฒนธรรมไทย ดังนั้นคงไม่มีคำอธิบายที่ดีไปกว่าการที่ได้เห็นคนไทยยิ้มและมีความสุขกับมัน
ควินซี่: ผมก็รู้สึกยินดีเช่นกัน ที่ได้เห็นรายละเอียดเล็ก ๆ ที่เราช่วยกันสร้างแล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกัน สร้างเสียงตอบรับที่ดีมากจากแฟนชาวไทย แล้วก็รู้สึกประทับใจที่เพลง“ชิพกับเดล”ติดหูคนฟังจนกลายเป็นเอียรเวิร์ม และโซเชียลมีม (Meme) มากมาย
มีอะไรที่อยากอยากพูดถึงชอร์ตแอนิเมชั่นของมิคกี้ "Our Floating Dreams" อีกไหม
ชมคลิป "Our Floating Dreams"